คุณเคยสังเกตกันบ้างป่ะ เวลาที่เราเดินในโรงเรียนกับเพื่อนเป็นกลุ่มใหญ่ๆ พอเจออาจารย์เดินสวนผ่านมา ถ้าเพื่อนทุกคนไม่ยกมือไหว้ เราก็จะไม่ยกมือไหว้ตามเพื่อนๆ ซะงั้น ทั้งๆ ที่ปกติแล้วเวลาคุณเจออาจารย์ก็จะรีบไหว้ท่านทุกครั้ง
พฤติกรรมนี้ทางจิตวิทยาเรามีศัพท์เรียกว่า "Conformity" ครับ ถ้าไปเปิดตำราดูจะพบว่าเขาแปลเป็นไทยว่า "การคล้อยตามกัน" เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาสังคม ซึ่งสรุปได้ให้เข้าใจง่ายๆ คือ
เรามีแนวโน้มที่จะกระทำอะไรตามคนส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากสังคม (ไม่อยากเป็นแกะดำ)และถึงแม้ว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำนั้น จะ "ผิด" หรือไม่ก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น คุณไปเที่ยวสวนสนุกกับเพื่อนๆ ในแก๊งตลอดทั้งวัน แต่ตกเย็นเพื่อนคุณทุกคนก็มีความเห็นว่าจะไปต่อที่ผับกัน ส่วนคุณนั้นทั้งๆ ที่รู้ว่ามีงานต้องทำ และรู้ว่าคงจะต้องดื่มแอลกอฮอล์กันยันดึกแน่ๆ แต่สุดท้าย คุณก็เลือกไปเข้าผับตามแก๊ง ถึงแม้คุณจะเกลียดควันบุหรี่ เกลียดเสียงหนวกหู เกลียดคนเมาและรู้ว่ามันไม่ดีต่อตัวเอง
หรือเหตุการณ์เรารู้ว่าเพื่อนๆ ในห้อง เกลียดนาย A มากๆ แล้วเราก็เลยเกลียดนาย A ตามซะงั้น ทั้งที่ความจริงเราไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์ทางลบกับนาย A เลย
หรืออีกตัวอย่าง (อันนี้หลายคนคงเคยเป็น) เช่น อาจารย์ขออาสาสมัครไปทัศนศึกษาต่างจังหวัด 7 วัน เราสนใจมากๆ แล้วเราก็ไปถามเพื่อนในแก๊งว่า ไป/ไม่ไป เพื่อนในแก๊งเราไม่มีใครสนใจไปเลย เราก็เลยตัดสินใจไม่ไป (แต่ในใจเราอยากไปมาก)
ทั้งหมดนี้มันเป็นเพราะอะไร?
นักจิตวิทยาสังคมชื่อ Solomon Asch ได้ทำการ "ทดลอง" เกี่ยวกับเรื่องความคลุมเครือของสถานการณ์ โดยให้ผู้เข้ารับการทดลองนั่งรวมกับคนอื่น (ซึ่งเป็นหน้าม้า) ซึ่งผู้ทดลองได้เตรียมคำตอบกันไว้แล้วประมาณ 7-9 คน โดยทุกคนในกลุ่มจะได้เห็น "เส้นตรงแนวดิ่ง" (ดังรูป) ที่มีความยาวไม่เท่ากัน 3 เส้น
ส่วนอีกหนึ่งเส้นจะใช้เป็นเส้นเพื่อเปรียบเทียบ จากนั้นให้สมาชิกแต่ละคนตอบว่าเส้นใด
มีความยาวใกล้เคียงกับเส้นมาตรฐานมากที่สุด โดยกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการทดลองเป็นคนตอบคนสุดท้าย ผลปรากฏว่า 37% ในจำนวน 123 คน ยอมที่จะตอบผิดตามกลุ่มบุคคลที่ Asch ได้เตรียมคำตอบไว้
จากการทดลองของแอชนั้นจึงสรุปได้ว่า ถึงแม้สถานการณ์จะมีคำตอบที่ชัดเจนไม่คลุมเครือก็ตาม แต่บุคคลก็ยังคล้อยตามคนส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อให้ตนได้รับการยอมรับจากสังคมเท่านั้น
*เสริม*
การที่บุคคลจะมีพฤติกรรมคล้อยตามกลุ่มนั้นๆ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ:
1.ความเชื่อมั่นในตนเอง บุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงจะตัดสินใจจากความคิด และเหตุผลของตัวเองมากกว่าคล้อยตามความคิดเห็นของกลุ่ม ส่วนคนที่ไม่เชื่อมั่นในตนเองจะคล้อยตามกลุ่มได้ง่าย
2.สัมพันธภาพระหว่างบุคคลภายในกลุ่ม กลุ่มใดก็ตามที่สมาชิกภายในกลุ่มมีความรักใคร่สนิทสนมกันอย่างแน้นแฟ้น หรือมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน จะเกิดความคล้อยตามกันได้ง่ายกว่ากลุ่มที่มีความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่ม
BY [PSYCHE TU]
No comments:
Post a Comment